วันพุธที่ 29 ธันวาคม พ.ศ. 2553

วันรัฐธรรมนูญ


วันรัฐธรรมนูญ

 article


ความหมาย
วันรัฐธรรมนูญเป็นวันที่ระลึกคล้ายวันที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานรัฐธรรมนูญ ราชอาณาจักรสยามฉบับถาวร เพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศตามระบบประชาธิปไตยให้แก่ประชาชนชาวไทย
ความเป็นมา
การเปลี่ยนแปลงการปกครองเมื่อวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๔๗๕ นับว่ามีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งในประวัติศาสตร์การปกครองของชาติไทย เนื่องจากเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบ
สมบูรณาญาสิทธิราช ซึ่งเป็นระบอบการปกครองที่ใช้กันมาเป็นเวลา ๗๐๐ ปีเศษ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
สาเหตุที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครอง
๑. พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ แห่งราชวงศ์จักรี ทรงมีพระราชประสงค์ที่จะพระราชทานรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นหลักในการปกครองของประเทศให้แก่ประชาชนชาวไทย
๒. หลังสงครามโลกครั้งที่ ๑ เศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ผลอันนี้ได้กระทบมาถึงไทยด้วยพระองค์ได้แก้ไขเศรษฐกิจโดยปลดข้าราชการออกยังความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการ
๓. อิทธิพลจากตะวันตกเกี่ยวกับอุดมการทางการเมือง ทำให้กลุ่มคนหนุ่มต้องการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลัน
๔. รัฐบาลได้ออกกฎหมายเก็บภาษี อาทิ ภาษีโรงเรือน ภาษีที่ดินจากราษฎรจากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น ทำให้เกิดความไม่พอใจในหมู่ข้าราชการทหาร และราษฎรทั่วไปจึงทำให้มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองโดยการปฏิวัติ มีคณะผู้รักษาการพระนครฝ่ายทหารซึ่งประกอบด้วยพันเอกพระยาพหลพยุหเสนา พันเอกพระยาทรงสุรเดช และพันเอกพระยาฤทธิอาคเนย์เป็นผู้บริหารประเทศ
วันที่ ๒๗ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๗๕ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเรียกว่า "พระราชบัญญัติธรรมนูญการปกครองแผ่นดินสยามชั่วครา"
สาระสำคัญของธรรมนูญการปกครองฉบับนี้ได้แก่
การที่กำหนดว่าอำนาจสูงสุดในการปกครองประเทศหรืออำนาจอธิปไตยเป็นของราษฎรทั้งหลายใช้อำนาจสูงสุดก็ให้มีบุคคลคณะบุคคลเป็นผู้ใช้อำนาจแทนราษฎรดังนี้ คือ
๑. พระมหากษัตริย์
๒. สภาผู้แทนราษฎร
๓. คณะกรรมการราษฎร
๔. ศาล
ลักษณะการปกครองแม้จะเปลี่ยนระบอบการปกครองมาเป็นประชาธิปไตยแต่ถือว่า พระมหากษัตริย์เป็นประมุขของประเทศ เป็นสถาบันที่ถาวรและมีการสืบราชสมบัติต่อไปในพระราชวงศ์โดยได้รับความยินยอมจากคณะกรรมการราษฎรจึงจะใช้ได้ สถาบันที่เกิดใหม่คือสภาผู้แทนราษฎรซึ่งมีอำนาจทางนิติบัญญัติออกกฎหมายต่าง ๆ ซึ่งเมื่อพระมหากษัตริย์ลงพระปรมาภิไธยประกาศใช้แล้ว จึงจะมีผลบังคับได้เหตุนี้ในระยะแรกของการเปลี่ยนแปลงการปกครอง สภาผู้แทนจึงเป็นสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดในทางการเมือง ส่วนการใช้อำนาจตุลาการยังคงให้ศาลยุติธรรมที่มีอยู่แล้วพิจารณาพิพากษาคดีให้เป็นไปตามกฎหมายได้ตามเดิม
กระทั่งถึง วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕
พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานรัฐธรรมนูญราชอาณาจักรสยามฉบับถาวร ซึ่งมีหลักการต่างกับฉบับแรกในวาระสำคัญหลายประการอาทิ ได้เปลี่ยนระบอบการปกครองเป็นการปกครองแบบรัฐสภา ทั้งนี้เนื่องจากรัฐธรรมนูญ พ.ศ. ๒๔๗๕ ได้บัญญัติให้พระมหากษัตริย์ ซึ่ง
เป็นประมุขไม่ต้องรับผิดชอบทางการเมือง เป็นผู้ใช้อำนาจทางคณะ-รัฐมนตรี ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งให้บริหารราชการแผ่นดิน แต่คณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบในการบริหารราชการแผ่นดินต่อสภาผู้แทน รัฐสภาซึ่งเป็นฝ่ายนิติบัญญัติมิได้ใช้แต่เพียงอำนาจนิติบัญญัติเท่านั้น แต่มีอำนาจที่จะควบคุมคณะรัฐมนตรีในการบริหารแผ่นดินด้วยแต่อย่างไรก็ตามคณะรัฐมนตรีรวมทั้งพระมหากษัตริย์ซึ่งประกอบกันเป็นรัฐบาลก็มีอำนาจที่จะยุบสภาผู้แทนได้ หากเห็นว่าได้ดำเนินการไปในทางที่จะเป็นภัยหรือเสื่อมเสียผลประโยชน์สำคัญของรัฐซึ่งมีผลเท่ากับถอดถอนสมาชิกสภาที่ได้รับเลือกตั้งมาเพื่อให้ราษฎรเลือกตั้งใหม่ ในส่วนเกี่ยวกับพระมหากษัตริย์นั้น ได้บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะผู้ใดจะละเมิดมิได้
รัฐพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๗๕ พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗ ได้เสด็จออกประทับพระที่นั่งพุดตานกาญจนสิงหาสน์ภายใต้นพปฎลมหาเศวตฉัตร ณ พระที่นั่งอนันตสมาคมซึ่งโปรดเกล้าฯ ให้จัดเป็นที่ประชุมรัฐสภา แล้วได้ทรงลงพระปรมาภิไธยในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยพระราชทานเป็นกฎหมายสูงสุดเพื่อเป็นหลักในการปกครองประเทศ จึงได้ถือเป็นวันที่ระลึกสำคัญของชาติ มีพระราชพิธีบำเพ็ญพระราชกุศลฉลอง ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม
ทุกปีสืบมางานนี้เป็นงานพระราชพิธีและรัฐพิธีร่วมกันในการปกครองพระราชพิธีประจำปีนั้น ที่ท้องพระโรงหลังพระที่นั่งอนันตสมาคม ตั้งพระที่นั่งพุดตาน สลักปิดทอง เชิญพระพุทธปฎิมา
ชัยวัฒน์ประจำรัชกาลที่ ๗ ขึ้นประดิษฐาน และเชิญฉบับรัฐธรรมนูญวางบนพานทองสองชั้นเข้าในมณฑลพิธีแวดล้อมด้วยต้นไม้ทอง - เงินพร้อมด้วยเครื่องนมัสการและที่ทรงกราบ
เวลา ๑๐ นาฬิกา ๓๐ นาที พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระตำหนักจิตรลดารโหฐานไปยังพระที่นั่งอนันตสมาคม พระราชวังดุสิตรถยนต์พระที่นั่งผ่านประตูทวยเทพสโมสร กองทหารเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมีเทียบรถยนต์พระที่นั่งที่บันไดท้องพระโรงหลังณ ที่นี้ประธานรัฐสภารับเสด็จพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระ-ราชดำเนินขึ้นสู่ท้องพระโรงหลังซึ่งเป็นมณฑลพิธี ทรงจุดธูปเทียน
เครื่องนมัสการบูชาพระรัตนตรัย ทรงศีล แล้งพระสงฆ์ ๑๕ รูป(พระสงฆ์ถือตามเกณฑ์เมื่อครั้งงานฉลองพระราชทานรัฐธรรมนูญปีแรกขณะนั้นมี ๑๒ กระทรวง การปฏิบัติพระสงฆ์จึงมีพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ประธานรัฐสภา นายกรัฐมนตรี และเสนาบดี ๑๒ กระทรวงจึงเป็น ๑๕ รูป) เจริญพระพุทธมนต์จบแล้ว พระบามสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่สมเด็จพระสังฆราช พระสงฆ์ นอกนั้นโปรดเกล้าฯ ให้ประธานรัฐสภาถวานอดิเรก ถวายพระพรลา พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จฯ ไปประทับรถยนต์พระที่นั่งออกจากพระที่นั่งอนันตสมาคมเมื่อรถยนต์พระที่นั่งผ่านประตูทวยเทพสโมสร กองเกียรติยศถวายความเคารพ แตรวงบรรเลงเพลงสรรเสริญพระบารมี เสด็จพระราชดำเนินกลับพระราชพิธีนี้แต่งกายเครื่องแบบเต็มยศ สายสะพายช้างเผือก
อนึ่งทางรัฐสภาได้ขอพระบรมราชานุญาตหล่อพระบรมรูปพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๗ ผู้พระราชทานรัฐธรรมนูญ ประดิษฐานเป็นพระบรมราชานุสรณ์ไว้ที่หน้าตึกประชุมสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดพระบรมราชานุสาวรีย์นี้ในพระราชพิธีฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๓ ดังนั้นตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๒๔ ก่อนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวจะเสด็จพระราชดำเนินมาทรงบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระที่นั่งอนันตสมาคม จะได้เสด็จพระราชดำเนินไปทรงวางพุ่มดอกไม้และทรงจุดธูปเทียนถวายราชสักการะพระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ก่อน แล้วจึงเสด็จฯไปทรงบำเพ็ญพระราชกุศลฉลองวันพระราชทานรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ณ พระที่นั่งอนันตสมาคม พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวนี้ รัฐบาลได้ประกาศเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์สำคัญของชาติ มีการถวายบังคมพระบรมรูปเป็นประจำทุกปี

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น